วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การคำนวณภาษีครับ

  ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม เป็นช่วงเวลาแห่งการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีครับ  ผมก็เลยเอาวิธีคำนวณภาษีมาให้ดูกันว่าเค้าคำนวณกันอย่างไร
   1.สำหรับคนที่มีเงินเดือนก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 (ป.รัษฎากร มาตรา 40(1) อย่างเดียว) คำนวณได้ ดังนี้
   นำเงินได้พึงประเมิน  ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมารวมกันเป็นเงินได้สุทธิ  แล้วหักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน  เหลือเงินได้สุทธิเท่าไหร่ให้นำมาคำนวณภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ผมจะบอกช่วงท้ายครับ) แล้วนำภาษีที่เราถูกหัก  ณ  ที่จ่าย มาหักออกจากภาษีที่เราต้องชำระ
   2. สำหรับคนที่มีรายได้อันไม่ใช่เงินเดือน(ป.รัษฎากร มาตรา 40(2)-(8) )หรือมีรายได้อันเป็นเงินเดือนประกอบกับรายได้อื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือน (ป.รัษฎากร มาตรา 40(1)และ40(2)-(8) )ต้องยื่นแบ ภ.ง.ด. 90 คำนวณได้ 2 วิธีดังนี้
   วิธีแรก  คำนวณจากเงินได้สุทธิ
   นำเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมารวมกันเป็นเงินได้สุทธิ  แล้วหักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน  เหลือเงินได้สุทธิเท่าไหร่ให้นำมาคำนวณภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ผมจะบอกช่วงท้ายครับ) แล้วนำภาษีที่เราถูกหัก  ณ  ที่จ่าย รวมทั้งภาษีที่เราชำระตามแบบภ.ง.ด. 94 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี)มาหักออกจากภาษีที่เราต้องชำระ เพราะเราจ่ายไปแล้วนั่นเอง
   วิธีที่สอง  คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน
   ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมาตามมาตรา 40(2)-(8) ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยนำเงินได้พึงประเมินทั้งหมดไปคำนวณภาษีอัตรkร้อยละ 0.50 ผลลัพธ์เท่ากับภาษีที่เราต้องจ่าย  แต่เราสามารถนำภาษีที่เราถูกหัก ณ ที่จ่าย   และภาษีที่ชำระตามแบบภ.ง.ด. 94 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี)มาหักออกได้ เพราะเราได้จ่ายไปแล้วส่วนหนึ่งนั่นเอง
   ทั้งสองวิธีที่บอกมาเราเลือกไม่ได้ครับ เพราะกฎหมายบังคับว่าวิธีใดคำนวณได้มากที่สุดให้ใช้วิธีนั้นครับ
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

     เงินได้สุทธิ            ช่วงเงินได้สุทธิแต่ละขั้น       อัตราภาษีร้อยละ   ภาษีแต่ละขั้น     ภาษีสะสมสูงสุด

              1-150,000                 150,000                  ได้รับยกเว้น             -                            -

   150,001-500,000                 350,000                       10                     35,000                 35,000

   500,001-1,000,000              500,000                       20                    100,000              135,000

1,000,001-4,000,000           3,000,000                       30                    900,000           1,035,000

4,000,001 บาทขึ้นไป                                                  37                

   การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  เงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้สุทธิที่เกิดขึ้นในปี 2551 เป็นต้นไปครับ
                

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายเรื่องสินสอด ทองหมั้นครับ

   ความจริงแล้วคำว่า "สินสอด" เป็นภาษากฎหมายครับ แต่คำว่าทองหมั้นนั้นไม่ใช่แต่อย่างใด  โดยกฎหมายใช้คำว่า "ของหมั้น" ก็คงเป็นภาษาโบร่ำโบราณที่มีมานานนั่นแหละครับ แล้วเราก็เรียกกันมาจนติดปาก แต่ผมว่าก็คล้องจองกันดีนะครับ ทีนี้เรามาดูกันครับว่า สินสอดกับของหมั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
   เริ่มกันที่ของหมั้นก่อนนะครับ ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายส่งมอบหรือโอนให้กับหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นครับ  ส่วนสินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้กับบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือ ผู้ปกครองของหญิง เพื่อตอบแทนที่ยินยอมให้หญิงสมรสกับชายครับ
   สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับการหมั้นก็มีดังนี้ครับ
   1. การหมั้นทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ (ถ้าฝ่าฝืนถือว่าไม่มีการหมั้น กฎหมายเค้าเรียกเท่ๆว่าเป็นโมฆะครับ)
   2. หากผู้เยาว์(อายุไม่ถึง 20 ปี)ต้องการหมั้น ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองก่อน
   3. การหมั้นจะสมบูรณืต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นในวันหมั้นเท่านั้น (ส่งมอบวันอื่นไม่ได้นะ)
   4. หากมีการผิดสัญญาหมั้น (ไม่มีการสมรสนั่นเอง)อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าทดแทนได้ แต่กฎหมายจำกัดไว้ว่าเรียกได้เฉพาะความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง  ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรืออาชีพของตน เท่านั้น นอกเหนือจากนี้เรียกไม่ได้นะ
   อย่างไรก็ตาม การหมั้นไม่เป็นเหตุให้สามารถบังคับอีกฝ่ายหนึ่งสมรสได้ (แล้วจะหมั้นไปทำไมอ่ะว่าป่าวครับ) นี่คือความรู้เกี่ยวกับของหมั้นเพียงคร่าว ๆครับ
   ส่วนสินสอดนั้นก็ไม่มีอะไรมากครับ มีผลตามกฎหมายในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่สมควรสมรสกับชาย ถ้าหากเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายก็เรียกสินสอดคืนได้ครับ
   ได้รู้แบบนี้แล้วก็ลองถามใจตัวเองดูนะครับว่าหมั้นแล้วจะได้อะไร (เพราะที่จริงไม่หมั้นก็สมรสได้)