วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การตั้งชื่อบุคคล

การตั้งชื่อบุคคล

   ในวันที่คนเราเกิดมาสภาพความเป็นบุคคลเกิดขึ้นตามกฎหมาย    เราได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งทันที  แต่ทั้งนี้เราไม่อาจได้รับความคุ้มครองจากรัฐในทุกด้านเนื่องจากรัฐยังไม่มีข้อมูลของเรา   ฉะนั้นเราจึงต้องไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน  โดยในการแจ้งเกิดนั้นต้องมีการแจ้งชื่อด้วย     และในการตั้งชื่อของบุคคลแต่ละคนนั้นกฎหมายก็ได้กำหนดเงื่อนไข  และข้อห้ามไว้บางประการ  ชื่อของคนเรามีกี่ประเภท  และชื่อไหนตั้งไม่ได้ กฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังต่อไปนี้

ประเภทของชื่อ
   ชื่อของคนเราตาม พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
   1. ชื่อตัว  หมายถึง ชื่อประจำตัวบุคคล หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า  "ชื่อจริง"
   2. ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชื่อเล่น"
   3. ชื่อสกุล หมายถึง ชื่อประจำวงศ์สกุล หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า "นามสกุล"

1. ชื่อตัว
   การตั้งชื่อตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า"ชื่อจริง"นั้น ต้องไม่พ้องหรือไม่คล้ายกับพระปรมาภิไธย  พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม  กล่าวคือต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือหรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม ไม่ว่าจะเป็นพ้องรูปหรือพ้องเสียงก็ตาม ทั้งจะต้องไม่มีความหมายหยาบคาย

2. ชื่อรอง
   การตั้งชื่อรอง  หรือชื่อเล่นนั้นมีขอบเขตเหมือนกับการตั้งชื่อตัว หากแต่ต่างกันตรงที่กฎหมายไม่บังคับให้มีชื่อรอง ฉะนั้นชื่อรองจะมีหรือไม่ก็ได้

3.ชื่อสกุล
   การตั้งชื่อสกุล หรือนามสกุลนั้นกฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังนี้
   1. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี
  2.ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
  3.ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
  4.ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
  5.มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

  เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเราก็สามารถตั้งชื่อตามความต้องการของเราได้  แต่ถ้าหากนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้กับเรา  เราสามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนที่ไม่รับจดทะเบียน   แล้วนายทะเบียนจะดำเนินการส่งคำอุทธรณ์นั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่ง  โดยคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ว่าจะอนุญาตให้เรามีชื่อตามที่เราต้องการหรือไม่ก็ตามคำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด  ฉะนั้นหากรัฐมนตรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อตามที่เราต้องการ เราก็ต้องเปลี่ยนชื่อของเราให้ตรงตามหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การแจ้งเกิด

       การแจ้งเกิด
    การแจ้งเกิดเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย   ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการแจ้งเกิดให้กับเด็กเพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตามกฎหมายจากภาครัฐ  เพราะเมื่อเด็กเกิดมาย่อมไม่มีข้อมูลใดๆเกี่ยวกับตัวเด็กในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร    ทั้งไม่อาจดำเนินการให้มีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กก่อนเด็กเกิดได้  หากไม่ดำเนินการแจ้งเกิด  เด็กก็ไม่อาจได้รับสิทธิจากภาครัฐอย่างเต็มที่  ฉะนั้นแล้ว อย่าลืม...!ดำเนินการแจ้งเกิดให้กับเด็กตามขอบเขตที่กฎหมายได้กำหนด  ดังต่อไปนี้  

ผู้มีหน้าที่ดำเนินการแจ้งเกิด
   1. บิดา
   2. มารดา
   3. เจ้าบ้าน
   ตาม พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา18 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน  (เจ้าบ้าน คือ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านอยู่ทั้งในฐานะเจ้าของบ้าน และผู้เช่า)  เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการแจ้งเกิด

กำหนดเวลา
   บิดา มารดา หรือเจ้าบ้านต้องดำเินินการแจ้งเกิดให้กับเด็กภายในระยะเวลา  15  วัน  นับแต่วันที่เด็กเิกิด หากไม่สามารถแจ้งเกิดภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ด้วยมีเหตุจำเป็น ต้องดำเนินการแจ้งเกิดภายใน 30 วันนับแต่วันที่เด็กเกิด กล่าวคือ  ขยายระยะเวลาให้อีก 15 วันภายหลังครบกำหนดระยะเวลา 15 วัน
(หากไม่ดำเนินการแจ้งเกิดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

สถานที่แจ้งเกิด
   1. กรณีเด็กเกิดที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานเขต
   2. กรณีเด็กเกิดที่ต่างจังหวัด  ได้แก่  ที่ว่าการอำเภอ
   3. กรณีเด็กเกิดที่ต่างจังหวัด และอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาล  ได้แก่ สำนักงานเทศบาล
   หากไม่สะดวกในการแจ้งเกิด ณ ที่ทำการที่เด็กเกิดในท้องที่  จะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้

เอกสารหลักฐาน
   1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ท.ร.1/1) (กรณีที่เด็กเกิดในสถานพยาบาล)

ขั้นตอนการดำเนินการ
   1. ยื่นคำร้อง (แบบท.ร.100) ต่อนายทะเบียนพร้อมหลักฐานการแจ้งเกิด
   2. นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้อง กรอกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์
   3. นายทะเบียนลงชื่อในสูติบัตร และออกสูติบัตรซึ่งเป็นหลักฐานการเกิดให้กับผู้แจ้ง

หมายเหตุ : ในวันแจ้งเกิดผู้แจ้งต้องแจ้งชื่อของเด็กพร้อมกับการแจ้งเกิดด้วย    ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505