วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การคำนวณภาษีครับ

  ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม เป็นช่วงเวลาแห่งการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีครับ  ผมก็เลยเอาวิธีคำนวณภาษีมาให้ดูกันว่าเค้าคำนวณกันอย่างไร
   1.สำหรับคนที่มีเงินเดือนก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 (ป.รัษฎากร มาตรา 40(1) อย่างเดียว) คำนวณได้ ดังนี้
   นำเงินได้พึงประเมิน  ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมารวมกันเป็นเงินได้สุทธิ  แล้วหักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน  เหลือเงินได้สุทธิเท่าไหร่ให้นำมาคำนวณภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ผมจะบอกช่วงท้ายครับ) แล้วนำภาษีที่เราถูกหัก  ณ  ที่จ่าย มาหักออกจากภาษีที่เราต้องชำระ
   2. สำหรับคนที่มีรายได้อันไม่ใช่เงินเดือน(ป.รัษฎากร มาตรา 40(2)-(8) )หรือมีรายได้อันเป็นเงินเดือนประกอบกับรายได้อื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือน (ป.รัษฎากร มาตรา 40(1)และ40(2)-(8) )ต้องยื่นแบ ภ.ง.ด. 90 คำนวณได้ 2 วิธีดังนี้
   วิธีแรก  คำนวณจากเงินได้สุทธิ
   นำเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมารวมกันเป็นเงินได้สุทธิ  แล้วหักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน  เหลือเงินได้สุทธิเท่าไหร่ให้นำมาคำนวณภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ผมจะบอกช่วงท้ายครับ) แล้วนำภาษีที่เราถูกหัก  ณ  ที่จ่าย รวมทั้งภาษีที่เราชำระตามแบบภ.ง.ด. 94 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี)มาหักออกจากภาษีที่เราต้องชำระ เพราะเราจ่ายไปแล้วนั่นเอง
   วิธีที่สอง  คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน
   ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีที่ผ่านมาตามมาตรา 40(2)-(8) ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยนำเงินได้พึงประเมินทั้งหมดไปคำนวณภาษีอัตรkร้อยละ 0.50 ผลลัพธ์เท่ากับภาษีที่เราต้องจ่าย  แต่เราสามารถนำภาษีที่เราถูกหัก ณ ที่จ่าย   และภาษีที่ชำระตามแบบภ.ง.ด. 94 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี)มาหักออกได้ เพราะเราได้จ่ายไปแล้วส่วนหนึ่งนั่นเอง
   ทั้งสองวิธีที่บอกมาเราเลือกไม่ได้ครับ เพราะกฎหมายบังคับว่าวิธีใดคำนวณได้มากที่สุดให้ใช้วิธีนั้นครับ
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

     เงินได้สุทธิ            ช่วงเงินได้สุทธิแต่ละขั้น       อัตราภาษีร้อยละ   ภาษีแต่ละขั้น     ภาษีสะสมสูงสุด

              1-150,000                 150,000                  ได้รับยกเว้น             -                            -

   150,001-500,000                 350,000                       10                     35,000                 35,000

   500,001-1,000,000              500,000                       20                    100,000              135,000

1,000,001-4,000,000           3,000,000                       30                    900,000           1,035,000

4,000,001 บาทขึ้นไป                                                  37                

   การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  เงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้สุทธิที่เกิดขึ้นในปี 2551 เป็นต้นไปครับ
                

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายเรื่องสินสอด ทองหมั้นครับ

   ความจริงแล้วคำว่า "สินสอด" เป็นภาษากฎหมายครับ แต่คำว่าทองหมั้นนั้นไม่ใช่แต่อย่างใด  โดยกฎหมายใช้คำว่า "ของหมั้น" ก็คงเป็นภาษาโบร่ำโบราณที่มีมานานนั่นแหละครับ แล้วเราก็เรียกกันมาจนติดปาก แต่ผมว่าก็คล้องจองกันดีนะครับ ทีนี้เรามาดูกันครับว่า สินสอดกับของหมั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
   เริ่มกันที่ของหมั้นก่อนนะครับ ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายส่งมอบหรือโอนให้กับหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นครับ  ส่วนสินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้กับบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือ ผู้ปกครองของหญิง เพื่อตอบแทนที่ยินยอมให้หญิงสมรสกับชายครับ
   สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับการหมั้นก็มีดังนี้ครับ
   1. การหมั้นทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ (ถ้าฝ่าฝืนถือว่าไม่มีการหมั้น กฎหมายเค้าเรียกเท่ๆว่าเป็นโมฆะครับ)
   2. หากผู้เยาว์(อายุไม่ถึง 20 ปี)ต้องการหมั้น ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองก่อน
   3. การหมั้นจะสมบูรณืต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นในวันหมั้นเท่านั้น (ส่งมอบวันอื่นไม่ได้นะ)
   4. หากมีการผิดสัญญาหมั้น (ไม่มีการสมรสนั่นเอง)อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าทดแทนได้ แต่กฎหมายจำกัดไว้ว่าเรียกได้เฉพาะความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง  ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรืออาชีพของตน เท่านั้น นอกเหนือจากนี้เรียกไม่ได้นะ
   อย่างไรก็ตาม การหมั้นไม่เป็นเหตุให้สามารถบังคับอีกฝ่ายหนึ่งสมรสได้ (แล้วจะหมั้นไปทำไมอ่ะว่าป่าวครับ) นี่คือความรู้เกี่ยวกับของหมั้นเพียงคร่าว ๆครับ
   ส่วนสินสอดนั้นก็ไม่มีอะไรมากครับ มีผลตามกฎหมายในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่สมควรสมรสกับชาย ถ้าหากเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายก็เรียกสินสอดคืนได้ครับ
   ได้รู้แบบนี้แล้วก็ลองถามใจตัวเองดูนะครับว่าหมั้นแล้วจะได้อะไร (เพราะที่จริงไม่หมั้นก็สมรสได้)

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

การจัดการมรดก

  การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาครับ  และตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายกฎหมายก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา  ก็อย่างที่รู้กันนะครับว่าคนตายไม่อาจเอาทรัพย์สินติดตัวไปได้ เมื่อมีคนตายหากเราเป็นทายาทของผู้ตาย  เราก็ต้องดำเนินการจัดการมรดกให้กับผู้ตาย  โดยผู้ที่จะจัดการมรดกได้นั้นต้องมีคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกก่อน
   ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ได้แก่
   1.  ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื่อ)
   2. บิดา มารดา
   3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
   4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
   5. ปู่ ย่า ตา ยาย
   6. ลุง ป้า น้า อา
   ถ้าผู้สืบสันดานยังมีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับอื่นๆก็หมดสิทธิรับมรดกครับ (เรียงตามลำดับครับ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 และมาตรา 1630
   การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นทายาทตามลำดับข้างต้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกหรือพนักงานอัยการเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล  เมื่อมีการตั้งผู้จัดการมรดกแล้วผู้จัดการมรดกก็จะเป็นผู้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้กับทายาทอื่นครับ  ทั้งนี้การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นต้องได้รับความยินยอมจากทายาทด้วยครับ ฉะนั้นหากเราไม่ได้ให้ความยินยอมในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เราก็สามารถร้องคัดค้านคำร้องขอจัดการมรดกดังกล่าวได้ครับ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

การกู้ยืมเงิน

   ด้วยภาวะเศรษฐกิจหรือด้วยความจำเป็นหลายๆประการในปัจจุบัน ทำให้เราๆท่านๆมีความจำเป็นต้องใช้เงินกันมากขึ้น  หรืออาจจะใช้เงินเท่าเดิมแต่ว่ารายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น  เมื่อหมุนเงินไม่ทันทางเลือกหนึ่งของเราก็คือการยืมเงินของคนอื่นหรือบางท่านซึ่งมีฐานะร่ำรวยก็อาจให้ผู้อื่นกู้แล้วคิดดอกเบี้ย   แต่ท่านทราบไหมครับว่าการกู้ยืมเงินนั้นบางครั้งผู้ให้กู้กลับไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืน ซึ่งผมจะได้เล่าให้ฟังดังนี้ครับ
   การกู้ยืมเงินมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ท่านควรรับทราบคือ ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์     มาตรา 653  ซึงกำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
   1. การกู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
   2. การกู้ยืมเงินจำนวนเกิน 2,000 บาทคือตั้งแต่ 2,001 บาทเป็นต้นไปกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้    ส่วนผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องลงชื่อก็ได้ครับ
   การที่กฎหมายกำหนดให้การกู้เงินจำนวนมากต้องมีหลักฐานการกู้ยืมจึงจะฟ้องร้องได้ แต่เงินจำนวนน้อยไม่จำต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็สามารถฟ้องร้องได้นั้น  ฟังดูอาจจะแปลกๆ แต่กฎหมายเล็งเห็นว่าคนเราถ้ายืมเงินกันเล็กๆน้อยๆ ก็คงมิได้ใส่ใจอะไรมากมายแค่ยื่นเงินให้ก็สิ้นเรื่อง  แต่พอเงินมีจำนวนมากตามปกติคนเราก็ต้องมีความกังวลว่าจะได้เงินคืนหรือไม่   ซึ่งหากพิจารณาดูจากปกติของคนแล้วก็ย่อมจะทำสัญญากันไว้(กันชักดาบนั่นเอง)
   ในการกู้ยืมเงินนั้นผู้ให้กู้ยืมส่วนมากก็คงคิดดอกเบี้ยกัน และกฎหมายก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ให้คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวใช้ไม่ได้กับการกู้เงินของธนาคารนะครับ ใช้บังคับได้ระหว่างเราๆท่านๆ เท่านั้นครับ  (ไม่งั้นธนาคารเขาคงไม่รวยว่าไหมครับ ฮ่าฮ่า) และบางกรณีแม้เราไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้   กฎหมายก็คิดดอกเบี้ยให้นะ  แต่ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เรา ซึ่งกฎหมายให้เราคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  ของต้นเงินที่ให้กู้ยืม

   อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้ทำสัญญากู้เงินกันไว้ดีกว่าครับ เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้ง่ายต่อการพิสูจน์ครับ

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

การซื้อขาย

   การซื้อขาย   เป็นสิ่งที่เราๆท่านๆ   ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่ทุกวัน    เพราะเราใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามานานแล้ว  และการซื้อขายสินค้าแต่ละอย่างนั้นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แตกต่างกัน  โดยกฎหมายแยกประเภทของทรัพย์สิน หรือสินค้าที่เราต้องการซื้อออกเป็น   2    ประเภทหลัก  อันได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์ โดยการซื้อขายทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภทนี้มีข้อแตกต่างที่ควรรับทราบดังต่อไปนี้
   1. การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
   อสังหาริมทรัพย์  คือ ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินซึ่งมีลักษณะถาว  ร เช่น  บ้าน   และสิ่งปลูกสร้าง ต่างๆ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 139)     เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องมีขั้นตอนมากกว่าสังหาริมทรัพย์กล่าวคือ การซื้อขายแต่ละครั้งต้อง 1. ทำเป็นหนังสือ และ 2. จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  (มาตรา 456)  หากไม่ดำเนินการให้ครบทั้งสองขั้นตอนการซื้อขายจะใช้ไม่ได้หรือที่เรียกกันว่าเป็นโมฆะนั่นเอง   เมื่อการซื้อขายเป็นโมฆะแล้วทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม   พูดง่ายๆก็คือ  ผู้ซื้อไม่สามารถเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์จากผู้ขาย  และผู้ขายก็ไม่อาจเรียกร้องเอาเงินจากผู้ซื้อเช่นเดียวกัน
   3. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์
   สังหาริมทรัพย์  คือ  ทรัพย์อื่นๆนอกจาอสังหาริมทรัพย์  (มาตรา 140)     กล่าวคือเป็นทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่ดินไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวร พูดง่ายๆก็คือ ทรัพย์เล็กๆน้อยๆที่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่ายเช่น โต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ เป็นต้น    สำหรับการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีข้อยุ่งยากอะไร เพียงแค่ส่งมอบและชำระเงินก็เป็นอันเสร็จสิ้น     ไม่ต้องดำเนินการจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด แต่มีข้อควรระวัง คือ การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่   20,000   บาทขึ้นไปนั้  นหากไม่ได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกับคู่สัญญาได้
   1. มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
   2. วางประจำ(มัดจำ)ไว้
   3. ชำระหนี้บางส่วน  (มาตรา 456 วรรคท้าย)

   

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การตั้งชื่อบุคคล

การตั้งชื่อบุคคล

   ในวันที่คนเราเกิดมาสภาพความเป็นบุคคลเกิดขึ้นตามกฎหมาย    เราได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งทันที  แต่ทั้งนี้เราไม่อาจได้รับความคุ้มครองจากรัฐในทุกด้านเนื่องจากรัฐยังไม่มีข้อมูลของเรา   ฉะนั้นเราจึงต้องไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน  โดยในการแจ้งเกิดนั้นต้องมีการแจ้งชื่อด้วย     และในการตั้งชื่อของบุคคลแต่ละคนนั้นกฎหมายก็ได้กำหนดเงื่อนไข  และข้อห้ามไว้บางประการ  ชื่อของคนเรามีกี่ประเภท  และชื่อไหนตั้งไม่ได้ กฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังต่อไปนี้

ประเภทของชื่อ
   ชื่อของคนเราตาม พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
   1. ชื่อตัว  หมายถึง ชื่อประจำตัวบุคคล หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า  "ชื่อจริง"
   2. ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชื่อเล่น"
   3. ชื่อสกุล หมายถึง ชื่อประจำวงศ์สกุล หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า "นามสกุล"

1. ชื่อตัว
   การตั้งชื่อตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า"ชื่อจริง"นั้น ต้องไม่พ้องหรือไม่คล้ายกับพระปรมาภิไธย  พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม  กล่าวคือต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือหรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม ไม่ว่าจะเป็นพ้องรูปหรือพ้องเสียงก็ตาม ทั้งจะต้องไม่มีความหมายหยาบคาย

2. ชื่อรอง
   การตั้งชื่อรอง  หรือชื่อเล่นนั้นมีขอบเขตเหมือนกับการตั้งชื่อตัว หากแต่ต่างกันตรงที่กฎหมายไม่บังคับให้มีชื่อรอง ฉะนั้นชื่อรองจะมีหรือไม่ก็ได้

3.ชื่อสกุล
   การตั้งชื่อสกุล หรือนามสกุลนั้นกฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังนี้
   1. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี
  2.ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
  3.ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
  4.ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
  5.มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

  เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเราก็สามารถตั้งชื่อตามความต้องการของเราได้  แต่ถ้าหากนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้กับเรา  เราสามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนที่ไม่รับจดทะเบียน   แล้วนายทะเบียนจะดำเนินการส่งคำอุทธรณ์นั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่ง  โดยคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ว่าจะอนุญาตให้เรามีชื่อตามที่เราต้องการหรือไม่ก็ตามคำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด  ฉะนั้นหากรัฐมนตรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อตามที่เราต้องการ เราก็ต้องเปลี่ยนชื่อของเราให้ตรงตามหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การแจ้งเกิด

       การแจ้งเกิด
    การแจ้งเกิดเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย   ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการแจ้งเกิดให้กับเด็กเพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตามกฎหมายจากภาครัฐ  เพราะเมื่อเด็กเกิดมาย่อมไม่มีข้อมูลใดๆเกี่ยวกับตัวเด็กในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร    ทั้งไม่อาจดำเนินการให้มีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กก่อนเด็กเกิดได้  หากไม่ดำเนินการแจ้งเกิด  เด็กก็ไม่อาจได้รับสิทธิจากภาครัฐอย่างเต็มที่  ฉะนั้นแล้ว อย่าลืม...!ดำเนินการแจ้งเกิดให้กับเด็กตามขอบเขตที่กฎหมายได้กำหนด  ดังต่อไปนี้  

ผู้มีหน้าที่ดำเนินการแจ้งเกิด
   1. บิดา
   2. มารดา
   3. เจ้าบ้าน
   ตาม พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา18 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน  (เจ้าบ้าน คือ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านอยู่ทั้งในฐานะเจ้าของบ้าน และผู้เช่า)  เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการแจ้งเกิด

กำหนดเวลา
   บิดา มารดา หรือเจ้าบ้านต้องดำเินินการแจ้งเกิดให้กับเด็กภายในระยะเวลา  15  วัน  นับแต่วันที่เด็กเิกิด หากไม่สามารถแจ้งเกิดภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ด้วยมีเหตุจำเป็น ต้องดำเนินการแจ้งเกิดภายใน 30 วันนับแต่วันที่เด็กเกิด กล่าวคือ  ขยายระยะเวลาให้อีก 15 วันภายหลังครบกำหนดระยะเวลา 15 วัน
(หากไม่ดำเนินการแจ้งเกิดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

สถานที่แจ้งเกิด
   1. กรณีเด็กเกิดที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานเขต
   2. กรณีเด็กเกิดที่ต่างจังหวัด  ได้แก่  ที่ว่าการอำเภอ
   3. กรณีเด็กเกิดที่ต่างจังหวัด และอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาล  ได้แก่ สำนักงานเทศบาล
   หากไม่สะดวกในการแจ้งเกิด ณ ที่ทำการที่เด็กเกิดในท้องที่  จะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้

เอกสารหลักฐาน
   1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ท.ร.1/1) (กรณีที่เด็กเกิดในสถานพยาบาล)

ขั้นตอนการดำเนินการ
   1. ยื่นคำร้อง (แบบท.ร.100) ต่อนายทะเบียนพร้อมหลักฐานการแจ้งเกิด
   2. นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้อง กรอกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์
   3. นายทะเบียนลงชื่อในสูติบัตร และออกสูติบัตรซึ่งเป็นหลักฐานการเกิดให้กับผู้แจ้ง

หมายเหตุ : ในวันแจ้งเกิดผู้แจ้งต้องแจ้งชื่อของเด็กพร้อมกับการแจ้งเกิดด้วย    ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505