การตั้งชื่อบุคคล
ในวันที่คนเราเกิดมาสภาพความเป็นบุคคลเกิดขึ้นตามกฎหมาย เราได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งทันที แต่ทั้งนี้เราไม่อาจได้รับความคุ้มครองจากรัฐในทุกด้านเนื่องจากรัฐยังไม่มีข้อมูลของเรา ฉะนั้นเราจึงต้องไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน โดยในการแจ้งเกิดนั้นต้องมีการแจ้งชื่อด้วย และในการตั้งชื่อของบุคคลแต่ละคนนั้นกฎหมายก็ได้กำหนดเงื่อนไข และข้อห้ามไว้บางประการ ชื่อของคนเรามีกี่ประเภท และชื่อไหนตั้งไม่ได้ กฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังต่อไปนี้
ประเภทของชื่อ
ชื่อของคนเราตาม พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ชื่อตัว หมายถึง ชื่อประจำตัวบุคคล หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชื่อจริง"
2. ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชื่อเล่น"
3. ชื่อสกุล หมายถึง ชื่อประจำวงศ์สกุล หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า "นามสกุล"
1. ชื่อตัว
การตั้งชื่อตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า"ชื่อจริง"นั้น ต้องไม่พ้องหรือไม่คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม กล่าวคือต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือหรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม ไม่ว่าจะเป็นพ้องรูปหรือพ้องเสียงก็ตาม ทั้งจะต้องไม่มีความหมายหยาบคาย
2. ชื่อรอง
การตั้งชื่อรอง หรือชื่อเล่นนั้นมีขอบเขตเหมือนกับการตั้งชื่อตัว หากแต่ต่างกันตรงที่กฎหมายไม่บังคับให้มีชื่อรอง ฉะนั้นชื่อรองจะมีหรือไม่ก็ได้
3.ชื่อสกุล
การตั้งชื่อสกุล หรือนามสกุลนั้นกฎหมายกำหนดขอบเขตไว้ดังนี้
1. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี
2.ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
3.ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
4.ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
5.มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเราก็สามารถตั้งชื่อตามความต้องการของเราได้ แต่ถ้าหากนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้กับเรา เราสามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนที่ไม่รับจดทะเบียน แล้วนายทะเบียนจะดำเนินการส่งคำอุทธรณ์นั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่ง โดยคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ว่าจะอนุญาตให้เรามีชื่อตามที่เราต้องการหรือไม่ก็ตามคำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ฉะนั้นหากรัฐมนตรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อตามที่เราต้องการ เราก็ต้องเปลี่ยนชื่อของเราให้ตรงตามหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น