วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

การกู้ยืมเงิน

   ด้วยภาวะเศรษฐกิจหรือด้วยความจำเป็นหลายๆประการในปัจจุบัน ทำให้เราๆท่านๆมีความจำเป็นต้องใช้เงินกันมากขึ้น  หรืออาจจะใช้เงินเท่าเดิมแต่ว่ารายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น  เมื่อหมุนเงินไม่ทันทางเลือกหนึ่งของเราก็คือการยืมเงินของคนอื่นหรือบางท่านซึ่งมีฐานะร่ำรวยก็อาจให้ผู้อื่นกู้แล้วคิดดอกเบี้ย   แต่ท่านทราบไหมครับว่าการกู้ยืมเงินนั้นบางครั้งผู้ให้กู้กลับไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืน ซึ่งผมจะได้เล่าให้ฟังดังนี้ครับ
   การกู้ยืมเงินมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ท่านควรรับทราบคือ ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์     มาตรา 653  ซึงกำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
   1. การกู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
   2. การกู้ยืมเงินจำนวนเกิน 2,000 บาทคือตั้งแต่ 2,001 บาทเป็นต้นไปกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้    ส่วนผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องลงชื่อก็ได้ครับ
   การที่กฎหมายกำหนดให้การกู้เงินจำนวนมากต้องมีหลักฐานการกู้ยืมจึงจะฟ้องร้องได้ แต่เงินจำนวนน้อยไม่จำต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็สามารถฟ้องร้องได้นั้น  ฟังดูอาจจะแปลกๆ แต่กฎหมายเล็งเห็นว่าคนเราถ้ายืมเงินกันเล็กๆน้อยๆ ก็คงมิได้ใส่ใจอะไรมากมายแค่ยื่นเงินให้ก็สิ้นเรื่อง  แต่พอเงินมีจำนวนมากตามปกติคนเราก็ต้องมีความกังวลว่าจะได้เงินคืนหรือไม่   ซึ่งหากพิจารณาดูจากปกติของคนแล้วก็ย่อมจะทำสัญญากันไว้(กันชักดาบนั่นเอง)
   ในการกู้ยืมเงินนั้นผู้ให้กู้ยืมส่วนมากก็คงคิดดอกเบี้ยกัน และกฎหมายก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ให้คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวใช้ไม่ได้กับการกู้เงินของธนาคารนะครับ ใช้บังคับได้ระหว่างเราๆท่านๆ เท่านั้นครับ  (ไม่งั้นธนาคารเขาคงไม่รวยว่าไหมครับ ฮ่าฮ่า) และบางกรณีแม้เราไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้   กฎหมายก็คิดดอกเบี้ยให้นะ  แต่ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เรา ซึ่งกฎหมายให้เราคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  ของต้นเงินที่ให้กู้ยืม

   อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้ทำสัญญากู้เงินกันไว้ดีกว่าครับ เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้ง่ายต่อการพิสูจน์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น